เพราะมือของคนเรามีความละเอียดอ่อนมาก รูปทรงและขนาดคอกีต้าร์ที่พอดีจึงให้ความรู้สึกต่างออกไปอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน คอกีต้าร์ก็มีผลต่อเสียงและความยาวของเสียง (Sustain)
ไม้ที่ใช้ทำคอกีต้าร์ต้องเป็นไม้เนื้อแกร่งเพื่อป้องกันการบิดงอ โดยไม้ที่นิยมใช้ในกีต้าร์ไฟฟ้าคือไม้เมเปิล คอกีต้าร์อาจทำขึ้นจากไม้ชิ้นเดียวหรือประกอบขึ้นจากไม้หลายชิ้นเพื่อเสริมความแข็งแรงและมั่นคง
แม้ว่าส่วนคอจะมีผลต่อรูปแบบการเล่นเป็นหลัก แต่รูปทรงคอก็มีผลต่อน้ำหนักโดยรวมซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องเสียง เพราะยิ่งมีน้ำหนักมาก เสียงที่ได้ก็ยิ่งทุ้มหนา รูปทรงคอกีต้าร์มีตั้งแต่ทรง “D” แบบแบน ไปจนถึงทรง “D” แบบโค้งมน และทรง “V” แบบมีเอกลักษณ์
นอกเหนือไปจากดีไซน์ของคอกีต้าร์ วิธีการต่อคอเข้ากับตัวกีต้าร์ก็มีผลต่อทั้งเสียงและรูปลักษณ์ไม้แพ้กัน
คอกีต้าร์แบบ Bolt-on
โครงสร้างลักษณะนี้เป็นรูปแบบที่นิยมใช้ในกีต้าร์ไฟฟ้ามากที่สุด คอกีต้าร์จะต่อเข้ากับตัวกีต้าร์โดยใช้เพียงหมุดยึด ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำง่าย ให้เสียงใสและหนักแน่น อีกทั้งยังง่ายต่อการซ่อมแซมในกรณีที่ชำรุด
คอกีต้าร์แบบ Set-In
เป็นการต่อคอโดยใช้กาวติดเข้ากับร่องหรือช่องเสียบบนตัวกีต้าร์ กรรมวิธีจะใช้เวลานานกว่าและทำยากกว่า ทำให้มีราคาสูง คอกีต้าร์ลักษณะนี้จะให้เสียงกลางและเสียงเบสที่คมชัดกว่า แต่ถ้าคอกีต้าร์หรือหัวกีต้าร์ชำรุด จะซ่อมแซมได้ค่อนข้างยาก
คอกีต้าร์แบบ Neck-Through-Body
คอกีต้าร์ลักษณะนี้จะมีความยาวจากหัวกีต้าร์ลึกลงไปถึงปลายตัวกีต้าร์ โดยติดกาวยึดแต่ละด้านของลำตัวเข้ากับฝั่งตรงข้ามของส่วนคอ ในลักษณะเดียวกับการยึดปีกเข้ากับลำตัวเครื่องบิน กีต้าร์ไฟฟ้าที่มีโครงสร้างแบบนี้จะทำยากที่สุดและมีราคาแพงที่สุด
โครงสร้างคอกีต้าร์แบบ Neck-Through-Body ทำให้ได้กีต้าร์ที่มีคุณภาพสูง ให้ความยาวเสียง (Sustain) ชั้นเลิศ และได้เสียงที่ทุ้มลึกนุ่มนวล แต่ไม่สามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนคอได้ในกรณีที่ชำรุด ประกอบกับราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้กีต้าร์ไฟฟ้าแบบ Neck-Through-Body ค่อนข้างหาได้ยาก