เปลี่ยนแบบร่างเป็นกีต้าร์ชั้นยอด

การแปลงแบบร่างเป็นกีต้าร์ดีๆ สักตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแบบร่างเชิงเทคนิคบอกโทนเสียงของกีต้าร์ไม่ได้ และไม่สามารถบอกวิธีการผลิตที่ควรใช้เพื่อให้เราได้เสียงและคุณสมบัติตามที่ต้องการ ก่อนเริ่มสร้างกีต้าร์ตัวใหม่ นักออกแบบจึงต้องปรึกษาเรื่องแผนและเป้าหมายกับช่างในโรงงานเพื่อร่วมกันค้นหากระบวนการผลิตที่เหมาะสม เพราะกีต้าร์ทุกตัวล้วนแตกต่างกัน เราจึงต้องกำหนดระเบียบวิธีและกระบวนการผลิตให้เหมาะกับกีต้าร์แต่ละตัว

ย้ำคิดย้ำทำ

บางครั้ง “การย้ำคิดย้ำทำ” ก็เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า กีต้าร์ของเราจะมีคุณภาพตามที่ต้องการในทุกๆ วันและทุกๆ สถานการณ์ มีหลายครั้งที่ Yamaha เน้นย้ำเรื่องรายละเอียดการผลิตอย่างหนักหน่วง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คุ้มค่า การจับคู่ตัวกีต้าร์กับคอกีต้าร์ตั้งแต่ในขั้นขึ้นรูปในกระบวนการจับคู่ตัวกีต้าร์กับคอกีต้าร์ก่อนการเคลือบผิวกีต้าร์อะคูสติกของ Yamaha นับเป็นตัวอย่างหนึ่ง ประสบการณ์ชี้ให้เราเห็นว่าคุณภาพของส่วนต่อระหว่างคอกับตัวกีต้าร์มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มเสียงและการตอบสนองของกีต้าร์ พูดสั้นๆ ก็คือ เราจะต้องต่อประสานส่วนคอกับตัวกีต้าร์ให้ได้สมบูรณ์แบบ ระดับการควบคุมและความแม่นยำที่ได้จากการสร้างและตัดแต่งส่วนคอและตัวกีต้าร์ให้ประสานกันได้อย่างลงตัว ถือว่าคุ้มค่ากับความพยายามเพิ่มเติม

ผสานความแม่นยำของเครื่องจักรกับทักษะของมนุษย์ได้อย่างลงตัว

มีงานบางอย่างที่ควรให้เครื่องจักรรับหน้าที่ โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูงและต้องทำซ้ำๆ เช่น การตัดร่องเฟรทบนฟิงเกอร์บอร์ด ซึ่งเป็นงานสำคัญที่ต้องอาศัยเครื่องตัดที่แม่นยำและควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ แต่เพื่อให้ได้กีต้าร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักกีต้าร์อย่างแท้จริง เราจะต้องอาศัยความใส่ใจและความยืดหยุ่นของมนุษย์ ในขั้นนี้เองที่ฝีมือและประสบการณ์ของทีมช่าง Yamaha จะได้เฉิดฉาย

การประกอบขั้นสุดท้าย

Yamaha ทุ่มเทใส่ใจเพื่อให้กีต้าร์และเบสทุกตัวที่ออกจากโรงงานให้คุณภาพการเล่นสูงสุด ผู้เล่นบางคนอาจปรับแต่งกีต้าร์เองเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้ากับสไตล์การเล่น แต่รายละเอียดที่สำคัญ เช่น การปรับตั้งระดับเฟรทและการเคลือบผิวจะต้องดำเนินการผ่านศูนย์ซ่อมที่โรงงาน การประกอบขั้นสุดท้ายต้องอาศัยความใส่ใจขั้นสูงสุดเพื่อให้ได้เสียงและประสิทธิภาพดีที่สุด เสียงและคุณภาพการเล่นอาจด้อยลงหากจัดวางชิ้นส่วนไม่ถูกต้องหรือประกอบชิ้นส่วนไม่แน่นหนา ด้วยเหตุนี้เราจึงออกแบบศูนย์ประกอบชิ้นส่วนและกระบวนการที่ใช้ให้เอื้อต่อความลื่นไหลและประสิทธิภาพในการประกอบ เพื่อให้ผู้ประกอบใส่ใจเรื่องผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบได้อย่างเต็มที่

การรังสรรค์เครื่องมือ

เครื่องมือส่วนใหญ่ที่ใช้ทำกีต้าร์ต้องทำขึ้นด้วยมือเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน และเครื่องมือหลายอย่างก็ผลิตมาเพื่อใช้กับกีต้าร์รุ่นเดียวโดยเฉพาะ ไม่สามารถใช้ร่วมกับรุ่นอื่นได้ การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์แบบเพื่อเอื้อให้ช่างทำกีต้าร์ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในแนวทางการสร้างงานฝีมือของ Yamaha แต่เครื่องมือและอุปกรณ์ย่อมสึกหรอและสูญเสียความแม่นยำเมื่อผ่านการใช้งาน เราจึงใส่ใจและดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้เครื่องมือเหล่านี้อยู่ในสภาพดีที่สุดเสมอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญที่ซุกซ่อนไว้ในงานควบคุมคุณภาพโดยรวม

ส่งต่อทักษะและฝีมือ

เพราะการทำกีต้าร์ดีๆ ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญ หนทางเดียวที่จะการันตีได้ว่าคุณภาพของกีต้าร์จะมั่นคงและยืนยาวจวบจนอนาคตจึงเป็นการส่งต่อความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับช่างฝีมือรุ่นใหม่ การส่งต่อทักษะเช่นนี้ต้องมีการลงมือฝึกหัดด้วยตัวเอง เพราะเหตุนี้เอง Yamaha จึงกำหนดให้การส่งต่อความรู้เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการผลิตกีต้าร์อย่างเป็นทางการ แม้ทีมช่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ Yamaha มุ่งมั่นส่งเสริมประสิทธิภาพในการส่งต่อทักษะพื้นฐานและนวัตกรรมต่างๆ ที่เราคิดค้นขึ้น เพื่อให้กีต้าร์ของ Yamaha พัฒนายิ่งขึ้นไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง

ขั้นตอนการทำกีต้าร์

การคัดสรรไม้

เราคัดสรรวัสดุสำหรับใช้ทำกีต้าร์ตามหน้าที่และคุณลักษณะของแต่ละชิ้นส่วน ในกีต้าร์อะคูสติก ส่วนที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแรงสั่นสะเทือนของสายกีต้าร์เป็นเสียงดนตรีคือส่วนไม้หน้า ซึ่งมักทำจากไม้เนื้ออ่อนที่มีคุณสมบัติสะท้อนเสียงได้ก้องกังวาน เช่น ไม้สปรู๊ซ ในทางกลับกัน ไม้ข้างและไม้หลังของกีต้าร์จะต้องทำจากไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรง เช่น ไม้โรสวู๊ด เพื่อให้รับแรงสั่นสะเทือนที่ส่งมาจากไม้หน้าได้ดี

การหาจุดสมดุลระหว่างความแข็งแรง เสียง และรูปลักษณ์เป็นกระบวนการที่ต้องทำซ้ำๆ ในทุกๆ องค์ประกอบของกีต้าร์ทุกตัว ทั้งยังต้องเลือกวัสดุให้เหมาะสมที่สุด

การอบไม้

กระบวนการอบไม้เป็นขั้นตอนสำคัญในการทำกีต้าร์ของ Yamaha

ก่อนจะเริ่มลงมือทำกีต้าร์ เราต้องทำให้ไม้มีความชื้นที่เหมาะสม และต้องหาวิธีรักษาระดับความชื้นนี้ไว้ให้ได้ เพราะระดับความชื้นในไม้มีความสำคัญต่อคุณภาพของกีต้าร์ เนื่องด้วย Yamaha ผลิตเครื่องดนตรีจำนวนมากที่ทำจากไม้ ความรู้มากมายที่เราสั่งสมมาจึงทำให้เรารู้วิธีการลดปริมาณความชื้นในเครื่องดนตรี ตลอดจนวิธีรักษาระดับความชื้นที่ต้องการ

Yamaha ใช้วิธีอบแบบธรรมชาติผสมผสานกับการใช้เครื่องอบแห้ง เพื่อลดความชื้นในไม้ให้เหลือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ไม้ที่ผ่านเครื่องอบแห้งเรียบร้อยแล้วจะถูกนำไปอบแบบธรรมชาติในห้องที่มีความชื้นและอุณหภูมิคงที่ เพื่อให้ความชื้นในไม้ยังคงที่แม้ต้องเผชิญสภาวะต่างๆ ในโลกภายนอก

เทคโนโลยี A.R.E. หรือ Acoustic Resonance Enhancement

เทคโนโลยี A.R.E. เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะที่พัฒนาขึ้นโดย Yamaha คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ปรับสภาพเนื้อไม้ให้มีคุณสมบัติเหมือนไม้ที่เก่าตัวตามเวลา ด้วยการเข้าไปหยุดการทำงานและปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างภายในเนื้อไม้

เทคโนโลยี ARE จะเข้าไปปรับรูปทรงของเส้นใยไม้ในระดับโมเลกุลและหยุดการทำงานของเฮมิเซลลูโลสซึ่งเป็นสารที่ทำให้เส้นใยเกาะตัวกัน ทำให้เราได้กีต้าร์ที่สมบูรณ์ ไพเราะ กังวาน และเสียงเปิด ไม่ต่างไปจากกีต้าร์ที่ผ่านการเล่นมาแล้วหลายปี โดยเราจะใช้เทคโนโลยี A.R.E. ในกระบวนการอบแห้งขั้นสุดท้าย

งานไม้

Yamaha ใช้เครื่องจักรขั้นสูงที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกระบวนการที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูงและต้องทำซ้ำๆ เช่น การตัดร่องเฟรทและการขึ้นรูปสะพานสาย เราใช้วิธีผลิตกีต้าร์อันทันสมัยนี้ในโรงงานของ Yamaha ที่ประเทศญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย ประกอบกับทักษะและความชำนาญที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลามากกว่า 60 ปีแห่งการเป็นผู้ผลิตกีต้าร์ชั้นนำทั้งในญี่ปุ่นและโรงงานทั่วโลก

งานไม้: การวางโครงสร้างภายใน

โครงสร้างภายใน (Bracing) ของกีต้าร์อะคูสติกเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญต่อการรักษาความแข็งแรงของไม้หน้า อีกทั้งยังทำหน้าที่ส่งแรงสั่นสะเทือนภายในตัวกีต้าร์

การวางโครงสร้างภายในของ Yamaha ใช้วิธีสุญญากาศและการอัดลมเพื่อให้ยึดโครงสร้างได้อย่างมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งยังช่วยรักษาความแข็งแรงของกาวที่ใช้ติดระหว่างโครงสร้างกับไม้หน้าและไม้หลังของกีต้าร์ ทำให้ลดการสูญเสียแรงสั่นสะเทือนภายในตัวกีต้าร์ลงไปได้

การแกะขึ้นรูปโครงสร้างภายในของกีต้าร์ต้องอาศัยความละเอียดและฝีมือชั้นสูงของช่างผู้ชำนาญการ โดยช่างจะใช้สิ่วขึ้นรูปโครงสร้าง จากนั้นจึงเคาะเพื่อทดสอบเสียง และทำเช่นนี้ซ้ำๆ จนกว่าจะได้รูปทรงที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งนับเป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งความอดทนและความใส่ใจ

งานไม้: การติดกระดูกงู

กระดูกงูของกีต้าร์อะคูสติกคือแผ่นไม้บางๆ ที่ติดเข้ากับพื้นผิวด้านในของไม้ข้างเพื่อให้ยึดไม้หน้าเข้ากับไม้หลังได้แน่นสนิท อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการส่งต่อแรงสั่นสะเทือนของไม้หน้าจากไม้ข้างไปยังไม้หลัง เพื่อให้เกิดการสะท้อนเสียงทั่วทั้งลำตัวของกีต้าร์ ขั้นตอนการทำกระดูกงูต้องอาศัยความแม่นยำไม่ต่างไปจากขั้นตอนอื่นๆ ในการทำกีต้าร์ เราจะต้องขึ้นรูปกระดูกงูให้สมบูรณ์แบบและยึดเข้ากับขอบโค้งบนตัวกีต้าร์ให้สม่ำเสมอและแน่นหนาเพื่อความแข็งแรงและมั่นคง

งานไม้: การดัดไม้ข้าง

ในการทำรูปทรงโค้งของกีต้าร์อะคูสติกจากแผ่นไม้เรียบ เราจะให้ความร้อนไปที่ไม้ข้าง ตามด้วยการดัดโค้งด้วยเครื่องกด จากนั้นจึงนำออกจากเครื่องกดแล้ววางลงในบล็อกแม่พิมพ์เพื่อทิ้งให้เย็นและกำจัดความชื้น ขั้นตอนเหล่านี้ต้องมีการตรวจดูอย่างถี่ถ้วน เพราะการให้ความร้อนมากเกินไปจะทำให้ไม้กักเก็บความชื้น ทำให้กีต้าร์เสียรูปในภายหลัง แต่หากให้น้อยเกินไป ก็อาจทำให้ไม้ข้างแตกร้าว

งานไม้: การติดกาวยึดลำตัว

กีต้าร์รุ่นต่างๆ ของ Yamaha ล้วนมีขั้นตอนแตกต่างกันไป แต่สำหรับกีต้าร์อะคูสติกซีรีส์ L เราจะติดกาวยึดไม้หน้าเข้ากับไม้ข้างก่อน จากนั้นจึงตามด้วยไม้หลัง

การติดกาวแบบทีละส่วนจะช่วยให้ลำตัวกีต้าร์ที่เสร็จสมบูรณ์มีความเค้นตกค้างน้อยกว่าการติดพร้อมกันทีเดียว ทำให้ตัวกีต้าร์ส่งแรงสั่นสะเทือนได้ง่ายขึ้น และให้เสียงที่ไพเราะก้องกังวาน

งานไม้: การติดไบดิ้ง

ไบดิ้ง (Binding) มีด้วยกัน 2 ประเภทหลักๆ คือไบดิ้งที่ทำจากยางเรซินกับไบดิ้งที่แกะสลักขึ้นจากไม้ หากติดอินเลย์ (Inlay) ที่ทำจากยางเรซิน เราจะใช้กาวชนิดพิเศษที่ทำให้ยางเรซินละลาย แล้วใช้แคลมป์ยึดไว้เพื่อให้กาวติดเร็วขึ้น แต่สำหรับอินเลย์แบบไม้ เราจะใช้กาวอีกชนิดและใช้แคลมป์ยึดไว้ให้แน่นในระหว่างที่รอกาวแห้งตัว

งานไม้: การต่อคอกีต้าร์เข้ากับตัวกีต้าร์

กีต้าร์รุ่นคลาสสิกแบบสั่งทำของ Yamaha จะทำขึ้นจากโครงสร้างแบบสเปน คือ แกะสลักข้อต่อคอ (Heel) กับไม้ยึดบริเวณคอ (Neck Block) ขึ้นจากไม้ชิ้นเดียวเพื่อให้ได้เป็นชุดเดียวกัน ส่วนในรุ่นอื่นๆ ทั้งหมด จะเสียบส่วนคอเข้ากับร่องบนลำตัวกีต้าร์ เพื่อให้ได้ส่วนต่อแบบเดือยหางเหยี่ยว (Dovetail Joint)

การไสไม้พลาดแค่ครั้งเดียวก็อาจส่งผลต่อความแข็งแรงหรือมุมองศาของส่วนต่อ ทั้งยังมีผลต่อเสียงหรือความสูงของสายกีต้าร์อย่างมาก กระบวนการนี้จึงต้องอาศัยความแม่นยำและฝีมือระดับสูง

การเคลือบสี

งานเคลือบสีกีต้าร์แบ่งได้เป็น 4 ขั้นตอนหลักๆ คือ การเคลือบสีพื้นและสีชั้นกลางเพื่ออุดรูเสี้ยนในไม้ การเคลือบผิว และการขัดเงา โดยจะมีการขัดเตรียมผิวในแต่ละขั้นตอนโดยใช้กระดาษทรายชนิดละเอียดค่อยๆ ขัดให้ผิวเรียบลื่น

ระหว่างเคลือบสี เราจะวางแผ่นฟิล์มหนาประมาณ 10 ไมครอน (0.01 มม.) ลงไปอย่างแม่นยำก่อนการพ่นทุกครั้ง การพ่นแต่ละชั้นจะทำอย่างพอดี ไม่หนาและไม่บางจนเกินไปเพื่อไม่ให้สีเป็นรอยร่อง สีเคลือบที่ใช้เป็นสูตรที่พัฒนาขึ้นร่วมกันระหว่างฝ่ายวิจัยใน Yamaha กับผู้ผลิตสี โดยเน้นที่คุณสมบัติเรื่องเสียง ความสะดวกในการใช้ และความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่กีต้าร์ต้องเผชิญ

การเคลือบสี: งานทาเชลแล็ก

เชลแล็กใช้สำหรับทาเคลือบไม้ในกีต้าร์คลาสสิกแบบสั่งทำ

การเคลือบเช่นนี้เป็นกรรมวิธีดั้งเดิมที่ใช้ในสเปน โดยใช้สารคัดหลั่งที่ได้จากแมลงครั่งซึ่งพบได้มากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อจะทาเชลแล็ก เราจะนำสารคัดหลั่งนี้ไปละลายในแอลกอฮอล์ก่อน จากนั้นจึงทาบางๆ ลงบนแผ่นไม้ โดยให้หนาชั้นละประมาณ 1/100 ของความหนาในการเคลือบสีทั่วไป

การทาเชลแล็กต้องทำประมาณ 300 ชั้น และต้องทิ้งให้แห้งก่อนทาชั้นใหม่ การทาเชลแล็กจึงต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

งานขัดเงา

การขัดเงาเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเคลือบสีกีต้าร์

การขัดเงากีต้าร์ให้แวววาวต้องอาศัยสารขัดเงาและผ้าขัดเงาหลายชนิด สีเคลือบที่ต่างกันย่อมมีระดับความแข็งแตกต่างกันไป เราจึงนำมาตรการต่างๆ มาปรับใช้เพื่อให้ได้สีเคลือบที่สมบูรณ์แบบ เช่น การปรับค่ารอบต่อนาทีของเครื่องขัดหรือลดความหนักเบาในการขัด เป็นต้น

การประกอบเฟรท

หลังจากเคลือบสี จะเป็นขั้นตอนการขัดผิวเฟรทบอร์ด ตามด้วยการประกอบชิ้นส่วนเฟรท

การประกอบเฟรทควรทำเป็นขั้นสุดท้าย เพราะรูปทรงของคอกีต้าร์จะมีการเปลี่ยนแปลงหลังการเคลือบสีและระหว่างขั้นตอนการอบแห้งหลังเคลือบสี การประกอบเฟรทก่อนเคลือบสีจึงต้องเสียเวลาขัดเฟรทนานขึ้นในการเก็บงานขั้นสุดท้าย

การต่อคอกีต้าร์เข้ากับตัวกีต้าร์ (กีต้าร์ไฟฟ้าและเบส)

สำหรับกีต้าร์ไฟฟ้าและเบสที่ใช้วิธีต่อคอแบบยึดหมุด (Bolt-on) การเคลือบสีส่วนคอและตัวกีต้าร์จะทำแยกกัน แล้วจึงนำมาต่อกันเมื่อเริ่มขั้นตอนการประกอบ การต่อคอเข้ากับตัวกีต้าร์ให้แนบสนิทและปรับองศาของส่วนต่อให้แม่นยำเพื่อคุณภาพการเล่นที่ดีต้องอาศัยทั้งฝีมือ ความแม่นยำ และความอดทน

การติดตั้งสะพานสาย

หลังจากประกอบเฟรทลงบนกีต้าร์อะคูสติก ขั้นตอนต่อไปคือการติดตั้งสะพานสาย

ชิ้นส่วนสะพานสายจะมีหมุดยึดเข้ากับไม้หน้าอย่างแน่นหนา เพื่อให้ส่งแรงสั่นสะเทือนจากสายกีต้าร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การติดตั้งสะพานสายในตำแหน่งที่เหมาะสมมีผลต่อกีต้าร์อะคูสติกอย่างมาก Yamaha จึงใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อรักษาความแข็งแรงในการยึด และเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการขยับหรือหลุดเลื่อน

การประกอบขั้นสุดท้าย

เราจะเริ่มการประกอบขั้นสุดท้ายเมื่อติดตั้งชิ้นส่วนและองค์ประกอบที่เหลือเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงปิ๊กอัพหรือระบบไฟฟ้าในกีต้าร์ไฟฟ้าหรือเบส ชิ้นส่วนทั้งหมดบนกีต้าร์จะได้รับการปรับแต่งอย่างพิถีพิถันเพื่อให้กีต้าร์มีเสียงที่ไพเราะ ส่งแรงสั่นสะเทือนจากสายกีต้าร์ได้ดี และเล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เทคโนโลยี IRA หรือ Initial Response Acceleration (กีต้าร์ไฟฟ้าและเบส)

หลังจากประกอบและปรับแต่งแล้วเสร็จ กีต้าร์ไฟฟ้าบางชนิดจะมีขั้นตอนเพิ่มเติมที่เรียกว่ากระบวนการ Initial Response Acceleration ซึ่งจะนำกีต้าร์ที่เสร็จสมบูรณ์ไปผ่านการสั่นสะเทือนที่ระดับความถี่และความแรงที่กำหนด การนำกีต้าร์ไปผ่านการสั่นสะเทือนจะช่วยลดแรงเค้นระหว่างชิ้นส่วนซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการประกอบ เพื่อให้คุณได้กีต้าร์ที่มีความก้องกังวานชั้นเลิศ แม้ว่าจะเป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง

การตรวจสอบ

การตรวจสอบของเรามีขึ้นในทุกๆ ขั้นตอนการผลิต แต่การตรวจสอบขั้นสุดท้ายนี้จะเป็นการตรวจคุณภาพเสียงและการเล่นของกีต้าร์แต่ละตัวซ้ำเพื่อความมั่นใจ

หากทุกองค์ประกอบผ่านการประเมินและได้กีต้าร์ที่ตรงตามสเปคแล้ว เราจะเริ่มตรวจดูส่วนประกอบภายนอกโดยละเอียดว่ามีรอยตำหนิและจุดบกพร่องหรือไม่ เมื่อผ่านเกณฑ์ตรวจสอบขั้นสุดท้าย กีต้าร์ที่เสร็จสมบูรณ์จะได้รับการบรรจุและจัดส่งไปยังบ้านหลังใหม่

การวิจัยและพัฒนา

งานฝีมือ

การควบคุมคุณภาพ

การวิเคราะห์คลื่นเสียง

โครงสร้างของกีต้าร์อะคูสติก

โครงสร้างของกีต้าร์ไฟฟ้า