เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มบริษัท Yamaha ซึ่งผ่านการตรวจสอบและรับรองโดย SBTi ที่เรียกว่า “1.5°C-Aligned Targets”
บริษัท Yamaha Corporation (หรือ บริษัท Yamaha) รายงานว่าสหพันธ์องค์กรสิ่งแวดล้อมนานาชาติภายใต้โครงการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative: SBTi)*1 ได้ทำการตรวจสอบและรับรองเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะกลาง ถึง ระยะยาวของกลุ่มบริษัทซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญา Business Ambition for 1.5°C ของ SBTi*2
เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม Yamaha*3
[ระดับเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2018/3 (ปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018)]
・ขอบเขตที่ 1 + ขอบเขตที่ 2: ลดลง 55% ภายในปีงบประมาณ 2031/3 (มุ่งเป้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีงบประมาณ 2051/3)
・ขอบเขตที่ 3: ลดลง 30% ภายในปีงบประมาณ 2031/3
SBTi ได้ทำการตรวจสอบและรับรองเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะกลาง ถึง ระยะยาวของกลุ่มบริษัท Yamaha ในเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอุณหภูมิทั่วโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส*2 จากอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial level) โดยขณะนี้ กลุ่มบริษัท Yamaha ได้รับการตรวจสอบและรับรองสำหรับการยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 และ 2 จาก 32% เป็น 55% (เมื่อเทียบกับระดับเดียวกันนี้ในปีงบประมาณ 2018/3) ตามเกณฑ์ที่กำหนดให้ควบคุมอุณหภูมิทั่วโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสโดย SBTi เพื่อมุ่งเป้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ที่วางไว้ กลุ่มบริษัท Yamaha จึงมุ่งมั่นที่จะยกระดับความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมโดยการเพิ่มการจัดอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมภายในกลุ่มบริษัท นำโดยคณะทำงานว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Working Group) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารจัดการความยั่งยืน (Sustainability Committee) โดยมีประธานบริษัทเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดังกล่าว อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน การติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานที่มีคุณภาพสูง การคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ให้เหมาะสม
หมายเหตุ
1. SBT Initiative ถือเป็นการส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) และยังเป็นการประเมินและการรับรองเป้าหมายดังกล่าว SBT Initiative ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 2015 ด้วยการร่วมมือของสี่องค์กร ดังนี้ CDP (องค์กร NGO ระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม), สมาชิกข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (UNGC), สถาบันทรัพยากรโลก (WRI) และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)
2. เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอุณหภูมิทั่วโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส (หรือ 2 องศาเซลเซียส) จากอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (pre-industrial level)
3. ขอบเขตที่ 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากแหล่งที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือควบคุมจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมถึงแหล่งอื่นๆ
ขอบเขตที่ 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมจากการซื้อพลังงาน (เช่น ไฟฟ้า ไอน้ำ ฯลฯ)
ขอบเขตที่ 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากขอบเขตที่ 1 และ 2 (การจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนอื่นๆ การขนส่ง การใช้งานผลิตภัณฑ์ ฯลฯ) จากห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท
